การป้องกันโรคติดต่อและภัยที่เกิดในฤดูหนาว

ด้วยขณะนี้ เป็นช่วงฤดูหนาวสภาพอากาศหนาวเย็นปกคลุมเกือบทุกพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุของโรคติดต่อหลายชนิด ได้แก่  โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อ  ไวรัส RSV โรคปอดบวม โรคหัด โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และโรคอุจจาระร่วง สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันก็อาจทำให้เกิดโรคติดต่อดังกล่าวได้

                กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง  จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ  โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็กช่วงอายุ 0 – 4 ปี  ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นต้น และขอแนะนำให้ทราบถึงโรคติดต่อ อาการสำคัญ การป้องกันควบคุมโรคที่อาจจะเกิดในฤดูหนาวนี้ ดังต่อไปนี้

 

1. โรคไข้หวัด และโรคไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ      เกิดจากเชื้อไวรัส

การติดต่อ  เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก ตา เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจาม  ออกมาและสามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้างในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ

อาการ  มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ สำหรับอาการไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงกว่า คือ  ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดเวียนศีรษะมาก ปวดตามกระดูก กล้ามเนื้อ มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย  ถ้าพักผ่อนอย่าเพียงพอและได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะหายภายใน 5 – 7 วัน

การป้องกันและดูแลรักษาเบื้องต้น

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม  แก้วน้ำ  ผ้าเช็ดหน้า  ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้านควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้า  หรือกระดาษเช็ดหน้า เวลาไอ หรือจาม

2. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

3. ในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน

4. หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  ผักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น

5. เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัดใหญ่ ควรนอนพักผ่อนมาก ๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวและกินยาลดไข้ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น คือ มีไข้สูงนานเกิน 2 วัน และมีอาการไอมากขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ที่มีอาการหายใจเร็ว  หอบเหนื่อย หายใจแรง จนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง  อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม  ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

6. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายให้ประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกคนแต่พิจารณาให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง โดยผู้ที่ควรรับวัคซีน ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และบุคลากรทางการแพทย์  ซึ่งต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปี

 

2. โรคติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)

สาเหตุ        เกิดจากเชื้อไวรัส

ระยะฟักตัว  ประมาณ  4 – 6 วัน

การติดต่อ    เหมือนโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

อาการ  เด็กโตและผู้ใหญ่ ปวดศรีษะ มีไข้ต่ำๆ ไอแห้ง เจ็บคอ น้ำมูก คัดจมูก อาการเหล่านี้มักหายเองได้ 1 – 2 สัปดาห์เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหัวใจและปอด หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีไข้สูง (39 องศาเซลเซียส) ไอมากและมีเสมหะ หายใจเร็วและแรง หอบเหนื่อย หรือมีเสียงวี๊ดขณะหายใจ และอาจติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้ อาจมีภาวะแทรกซ้อนระบบหายใจล้มเหลวรวมถึงมีโอกาสเสียชีวิตได้

การป้องกัน และดูแลรักษาเบื้องต้น

การป้องกันเหมือนกับการป้องกันไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

 

3. โรคปอดบวม

สาเหตุ        อาจเป็นผลสืบเนื่องจากไข้หวัด และการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง

ระยะฟักตัว  ประมาณ  1 – 3 วัน

การติดต่อ    เหมือนโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

อาการ         มีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) ไอมาก หายใจหอบเร็ว ถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ทันที

การป้องกัน และดูแลรักษาเบื้องต้น

การป้องกันเหมือนกับการป้องกันไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

4. โรคหัด

สาเหตุ        เกิดจากเชื้อไวรัสหัด

ระยะฟักตัว  ประมาณ 8 – 12 วัน

การติดต่อ    สัมผัสโดยตรงจากการไอ จาม สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย

อาการ        ระยะแรกคล้ายไข้หวัด หลังจากนั้นมีไข้สูงทันที ลักษณะไข้สูงลอยกินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด  ลักษณะผื่นจะปรากฏหลัง มีไข้ 3 – 4 วัน ขนาดผื่นแดงเท่าหัวเข็มหมุดมักจะเริ่มขึ้นที่ไรผม และซอกคอก่อน ต่อมาผื่นจะลามไปที่หน้าผาก ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ตามลำดับ

การป้องกันและรักษา

1. เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ และให้ยาที่เหมาะสมถ้ามีโรคแทรกซ้อน

2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวลดไข้ในช่วงที่มีไข้สูง และให้อาหารอ่อนที่มีประโยชน์

3. แยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นๆ จนถึงระยะ 4 – 5 วัน หลังผื่นขึ้น

4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

5. ระวังโรคแทรกซ้อนต่างๆ เพราะระยะที่เป็น เด็กจะมีความต้านทานโรคบางอย่างลดลงโดยเฉพาะวัณโรค ดังนั้นจึงต้องระวังการติดเชื้อจากผู้ใหญ่

6. โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยให้เด็กได้รับวัคซีนหัด 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 อายุระหว่าง 9 – 12 เดือน

ครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน หรือ ป.1  อายุ 6 – 7 ปี

 

5. โรคสุกใส

สาเหตุ        เกิดจากเชื้อไวรัส

ระยะฟักตัว  ประมาณ  10 – 20 วัน (1 – 3 สัปดาห์)

อาการ         มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ในผู้ใหญ่มีไข้สูง อ่อนเพลียและปวดเมื่อยตามตัว

ลักษณะผื่น  เกิดขึ้นพร้อมๆกับวันที่มีไข้ หรือหลังจากมีไข้ 1 วัน  เริ่มแรกผื่นจะแดงราบ ต่อมาจะกลายเป็น  ตุ่มนูนมีน้ำใสๆอยู่ และมีอาการคัน

การป้องกัน และรักษา

1. การป้องกันโดยทั่วไปเหมือนกับโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด

2. ผู้ป่วยควรพักผ่อนและให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นเพียงพอ หากมีไข้ควรกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล หากมีอาการเจ็บคอ หรือไอ ควรปรึกษาแพทย์

3. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

4. เด็กนักเรียนที่มีอาการป่วย ควรให้หยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์

5. ผู้ป่วยที่มีอาการคันมากอาจใช้ยาทา (โดยปรึกษาแพทย์ก่อน) และในเด็กควรตัดเล็บให้สั้น

 

6. โรคมือ เท้า ปาก

สาเหตุ        เป็นโรคติดต่อที่พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส

ระยะฟักตัว  ประมาณ 3 – 6 วัน

การติดต่อ    เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยช่องทางเดินอาหาร

อาการ        มีไข้ 2 – 4 วัน เบื่ออาหาร ในปากมีแผลเหมือนแผลร้อนในและมีผื่นเป็นจุดแดง (มักไม่คัน) อักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ่งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือที่ก้น ต่อมาตุ่มจะกลายเป็นผื่นพองใสแดงอาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 10 วัน

การป้องกันและรักษา

1. การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด หรือเจลล้างมือ ทุกครั้งก่อน – หลังการรับประทานอาหาร หลังการขับถ่าย และการเล่นของเล่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ตัดเล็บให้สั้น ซึ่งเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่เชื้อได้ดี

2. การดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่ถูกต้อง ดูแลรักษาและทำความสะอาดอาคาร สถานที่ อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ และของเล่นต่างๆเป็นประจำและสม่ำเสมอด้วยน้ำยาทำความสะอาด

3. รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆไม่มีแมลงวันตอม และควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนม ร่วมกับผู้อื่น

4. หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรอยู่ในที่มีอาการถ่ายเทได้ดี

5. หลีกเลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรแยกเด็กป่วยจากเด็กปกติ และเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่น ๆ

 

7. โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก

สาเหตุ        โรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาวมักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี  เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งติดต่อได้ โดยการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป

อาการ        ถ่ายอุจจาระร่วงเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง  อาจเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดก่อนถ่ายเหลว  โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง  แต่เด็กบางคนมีอาการขาดน้ำรุนแรงจนถึงต้องเข้ารับการรักษา               ในโรงพยาบาล  เด็กที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงจะมีน้ำหนักลดลง และการเจริญเติบโตหยุดชะงักไปพักหนึ่ง

การป้องกันและดูแลรักษาเบื้องต้น

1. ควรให้อาหารเหลวแก่เด็กบ่อยครั้ง เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด รวมทั้งน้ำนมแม่ แต่สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น  ถ้าเด็กยังอุจจาระบ่อย  ควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้เด็กดื่มทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง  พร้อมทั้งให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย  โดยอาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8 – 12 ชั่วโมง  ถ้าให้การรักษาเองที่บ้านแล้ว  อาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที

2. ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสะอาด ปลอดภัย และทำให้เด็กมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ

3. ผู้ดูแลเด็กต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ

4. ให้เด็กกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด

5. ให้เด็กที่ป่วยถ่ายอุจจาระในภาชนะที่รองรับมิดชิด แล้วนำไปกำจัดในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายต่อไป

 

สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จึงขอแนะนำให้ประชาชนระวังป้องกันโรคที่เกิดในช่วงฤดูหนาว ดังนี้

1. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีความต้านทานโรค สวมเสื้อผ้าหลายๆชั้นเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาดปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำที่สะอาดทุกครั้ง หรือน้ำต้มสุก น้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (เครื่องหมาย อย.) รวมทั้งเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาดไม่มีตะกอน ไม่ควรรับประทานน้ำแข็งที่ใช้แช่อาหารอื่น

3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม และล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง

5. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยควรอยู่บ้าน พักรักษาตัวให้หาย ไม่ควรเข้าไปในที่ชุมชน แต่หากเข้าไปในที่ชุมชนให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ จาม

6. สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้อง

7. อย่าให้ถูกยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยตรวจดูภาชนะเก็บกักน้ำต่างๆ ต้องปิดฝาให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในภาชนะขังน้ำที่ไม่มีฝาปิด ทุก 7 วัน ใส่เกลือหรือผงซักฟอก ลงในจานรองตู้กับข้าว ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำใช้ หรืออ่างบัว ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่นจัดบ้านให้เป็นระเบียบ สะอาด ทำลายเศษภาชนะที่มีน้ำขังเช่น ขวด กระป๋อง กะลา กล่องโฟม พลาสติก ฯลฯ

 

***หากประชาชนมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย  ขอให้รีบไปพบแพทย์ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน***

 189 Total Views,  1 Views Today